เส้นทางชีวิตของเด็กน้อย ที่ต้องคอยปลูกฝังตั้งแต่ต้น

2,052 views

HH

“ความรู้ คู่คุณธรรม นำสู่อนาคต”

คำขวัญวันเด็กประจำปี 2558 ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบให้เด็กๆ ทั่วประเทศ คิดแล้วก็อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เพราะบอกตามตรงว่าวัยนั้นเราไม่ต้องมารับผิดชอบอะไรมากมาย สนุกสนานกับเพื่อนฝูงไปวันๆ ขนาดที่บางทีคำขวัญวันเด็กแต่ก่อนมันยังไม่ค่อยจะซึมซับเข้าหัวเอาซะด้วย นอกจากคุณครูจะบังคับให้ท่องเช้าท่องเย็นเพื่อจำมันเท่านั้น ยิ่งหากว่าปีไหนยาวๆ นี่แทบจำกันไม่ได้เลยจริงๆ
หากใครที่ติดตามข่าวสารของรัฐบาลชุดนี้ คงจะพอรู้นะครับว่าจุดยืนชัดเจนจะอยู่ที่การปลูกฝังคุณธรรมให้กับเด็กๆ และยังครอบคลุมไปถึงคนในสังคมที่มักเรียกตัวเองว่าเป็นผู้ใหญ่ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ การวางรากฐานที่ดีไว้ตั้งแต่ต้น มันจะส่งผลให้บั้นปลายมีความคงทนมากกว่าการมาเริ่มเอาเมื่อสายไป ซึ่งนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมหลายฝ่ายถึงต้องทะนุถนอมน้องๆ หนูๆ ที่เป็นเด็กและเยาวชนของชาติให้ประพฤติปฏิบัติตัวเป็นคนดี และมีคุณธรรม ซึ่งการทำเพียงแค่ยัดเยียดคำว่าคุณธรรมลงไป เด็กมันไม่รู้เรื่องหรอกครับ ตัวผู้ใหญ่เองนี่แหละที่จะต้องทำให้ดู เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กมันทำตาม

คำขวัญวันเด็ก58

มีหลายสิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชนในบ้านเรา ไม่ว่าจะไปในทางที่ดี หรือสิ่งล่อแหลมที่ก่อให้เกิดปัญหากับเด็กเหล่านั้น เพราะช่วงนี้คือช่วงเปราะบาง หมายถึงเราสามารถยัดเยียดข้อมูลอะไรลงไปก็ได้ แล้วเด็กเหล่านั้นจะจำฝังใจ หรือทำตามได้ไม่ยาก หากเป็นเรื่องดีก็ดีไป หากเป็นอะไรที่ออกไปในทางลบไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด หรือความรุนแรง ก็ถือว่าเป็นภัยอันร้ายแรงต่อเด็กทั้งสิ้น ซึ่งเราก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่าหนึ่งนั้นมันจะมีปัญหาของเด็กติดเกมเข้าไปด้วยเช่นกัน

ความจริงแล้วเด็กกับเกมมักเป็นของคู่กันมาช้านาน ซึ่งผมบอกได้เลยว่าแยกกันไม่ออกเด็ดขาด เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้น เด็กต้องการเพียงแค่ได้เล่นสนุกสนานไปกับเพื่อนๆ เท่านั้น เพียงแต่ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป การเข้าสังคมกับเพื่อนมันก็ต้องหมุนไปตามเวลาเช่นกัน สมัยผมเหรอครับ ตอนประถมหรือมัธยม จะได้มานั่งเล่นเกมแบบทุกวันนี้ไม่มีทาง เพราะเทคโนโลยียังถือว่าอยู่ห่างไกลจากเรานัก จะเล่นกันก็อาจจะเป็นเพียงแค่การละเล่นของเด็กบ้านนอก พวกปาบอลอัดกัน วิ่งเตะฟุตบอลกลางแสงแดดจ้าตอนพักเที่ยง อะไรจำพวกนั้น ดีหน่อยก็เล่นเกม Famicom ที่แต่ก่อนมีร้านเปิดให้เช่าเล่นเป็นรายชั่วโมงกันพอสมควร ผมเองก็ถือเป็นหนึ่งในเด็กเหล่านั้นที่เคยใช้บริการเช่าชั่วโมงเล่นเหมือนกัน เพราะเบี้ยน้อยหอยน้อยไม่มีตังค์ซื้อเครื่องเล่น ประกอบกับโดนกรอกหูว่าเล่นแล้วทีวีมันจะพัง ที่บ้านเองเลยไม่สนับสนุน เลยจำเป็นต้องหาเวลาปั่นจักรยานเข้าเมืองเพื่อหาร้านเล่นกันสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเด็กสมัยนี้

10167920_770944819660628_7093144757023087830_n

เท่าที่จำความได้ หลังจากเล่นเกมทุกครั้ง มันจะมีอาการเหมือนคันไม้คันมือ แบบว่าไม่อยากจะเลิก อันนี้พูดด้วยความสัจจริงเลย ไม่แน่ใจว่ามันเป็นอาการของเด็กติดเกมหรือเปล่า แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้มีผลกับชีวิตเรามากมายขนาดว่าต้องไปหาตังค์กลับมาเล่นใหม่ สุดท้ายก็ผ่านมันไปได้โดยที่เราเล่นเกมแต่ไม่ได้เอาเกมมาเป็นปัญหาในการใช้ชีวิต การเรียนไม่ได้ตก กีฬายังคงเล่นสม่ำเสมอ เกมจะเล่นก็ตอนที่ว่างเท่านั้นเอง

แต่กับสมัยนี้มันเปลี่ยนไปสิ้นเชิง ร้านเกมมีเปิดกันเป็นดอกเห็ด ค่าชั่วโมงก็ถูกแสนถูก ไม่เกินกำลังที่เด็กน้อยจะหามาเล่นได้ ครึ่งชั่วโมงบ้าง เต็มชั่วโมงบ้างแล้วแต่ตังค์ในกระเป๋า จนคำว่าพี่ต่อ 5 บาท เป็นคำฮิตที่ได้ยินกันจนชินกับเด็กตัวน้อยที่คอยเดินวนเวียนและใช้เวลาไปกับร้านเกมเพื่อเฝ้าดูมากกว่าเล่นเองเท่านี้ก็มีความสุขแล้ว ลำพังจะเล่นที่บ้านคงยาก เพราะคงไม่มีผู้ปกครองคนไหนสนับสนุนให้ลูกตัวเองเล่นเกมกันเป็นทุนเดิม การจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บ้านมันจึงเป็นอะไรที่ยากมาก นอกเสียจากใช้การเรียนเข้ามาเป็นตัวช่วยในการมีไว้ในครอบครองสักเครื่องเท่านั้น
นั่นจึงเป็นเหตุผลของผู้ปกครองหลายๆ รายที่มักมองลูกหลานตัวเองว่าเป็นเด็กติดเกม เพราะชอบใช้ชีวิตอยู่กับร้านเกมมากกว่าอยู่กับบ้าน ส่วนปัญหาอื่นที่ตามมานั่นคือการเล่นเกมมากจนเกินไป ทำให้เด็กส่วนใหญ่หมกมุ่นไปกับการเล่นเกมจนเกินงาม ปัญหาทั้งหมดผมไม่ได้โยนความผิดไปให้ร้านเกม เพราะร้านที่ดีมีเยอะมากกว่าร้านไม่ดี แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกันนั่นคือ ทุกฝ่ายมีส่วนในการทำให้ปัญหาเด็กติดเกมมันมีสูงขึ้น และจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีมันเฟื่องฟู ภาพชัดที่สุดตอนนี้คงเห็นกันชินตากับสังคมก้มหน้าที่ไม่ว่าไปไหนก็เจอนั่นเอง

aaa

ทีนี้เราจะทำยังไงให้เด็กเล่นเกมอย่างถูกวิธี ซึ่งบอกกันตรงนี้เลยนะครับว่าการเล่นเกมที่ถูกวิธีมันไม่ได้มีการจดหลักสูตรว่าแบบนั้นดี แบบนี้เยี่ยม เพียงแต่คำจำกัดความของการเล่นเกมให้ถูกวิธีนั้นหมายถึง การรู้จักเล่น เข้าใจถึงจุดหมายหรือวัตถุประสงค์ของเกมว่าเล่นแล้วได้อะไร นั่นคือเล่นเกมเพื่อความบันเทิง อย่าให้เครียดจนเกินไป หากเมื่อใดก็แล้วแต่ที่เราเล่นเกมแล้วรู้สึกเครียดก็ให้หยุด เพราะหลังจากนั้นมันคือขั้นตอนของการทำลายมากกว่าสร้างสรรค์ ซึ่งหลายคนเป็น และเคยถึงจุดนั้นมาก่อน ตัวผมเองก็เช่นกัน แต่สิ่งที่เราต้องยึดถือและทำตามนั่นคือรู้จักคำว่าหยุด พอ และพัก ทำแบบนี้เรื่อยๆ รับรองว่าเกมจะไม่สร้างปัญหาให้เราและคนรอบข้างเลยแม้แต่น้อย

อีกทั้งสมัยนี้มันมีอะไรมากกว่าแค่เล่นเพื่อความบันเทิงเริงใจ เพราะมันมีจุดมุ่งหมายที่ไกลกว่า นั่นคือการเล่นเพื่อแข่งขัน ซึ่งทุกวันนี้หลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นค่ายเกม สปอนเซอร์ หรือแม้แต่สื่อเกมจากที่ต่างๆ ก็มักจะสนับสนุนและส่งเสริมการเล่นเกมในเชิงของการแข่งขันที่เราเรียกว่า E-Sports และพร้อมที่จะผลักดันให้ไปได้ไกลกว่านี้ ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นตัวความหวังของวงการที่ทำให้เด็กๆ สามารถเล่นเกมกันอย่างถูกต้อง มีจุดมุ่งหมาย พร้อมทั้งสร้างเสริมความมีระเบียบ ปลูกฝังน้ำใจนักกีฬา และรู้จักใช้เวลาว่างในการเล่นเกมไปในทางที่ถูกที่ควร ไม่ใช่เล่นเพื่อสนองความอยาก และเกรียนไปวันๆ เท่านั้น

แต่ต่อให้เราจะปลูกฝังหรือผลักดันมากแค่ไหน มันก็ยากที่จะประสบผลหากขาดความช่วยเหลือจากส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่จากหลายๆ ส่วน และที่จะขาดไปไม่ได้นั่นคือ ความร่วมมือจากตัวเด็กเอง ที่พร้อมจะเล่นเกมในแบบที่ควรจะเป็น หากการแข่งขันมันเป็นเรื่องไกลตัว อย่างที่มีหลายคนบอกว่า มันเป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่จะประสบผลสำเร็จจากการสร้างทีมเข้าแข่งขัน ดังนั้นเราจึงต้องมองสิ่งใกล้ตัวแล้วจับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะบางเกมมันแอบสอนให้เรารู้จักคิด รู้จักวางแผน และรู้จักการควบคุมอารมณ์ หรือแม้แต่การสอดแทรกการเรียนรู้เรื่องภาษา ก็ถือว่าเป็นจุดเด่นที่คนเล่นเกมมักพูดเสมอว่า เล่นเกมเหมือนเรียนภาษาไปในตัว ตัวคนที่เล่นเกมเองพอจะเข้าใจ แต่สุดท้ายมันก็กลายเป็นข้ออ้างของคนที่ไม่ได้เล่นอยู่ดีนั่นแหละ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะยุคไหน เก่าหรือใหม่ ต่างมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือเด็กๆ จะแสวงหาความสุขจากการเล่นอะไรสักอย่าง ซึ่งนั่นมันก็แล้วแต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป แต่สุดท้ายมันก็จะจบลงตรงที่ เด็กได้อะไรจากการเล่นเหล่านั้น ของทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษอยู่ในตัวมัน ไม่ว่าเด็กยุคไหน หากมีจิตสำนึก รู้จักแยกแยะ และแบ่งเวลาเป็น มันก็จะก่อเกิดคุณมากกว่าโทษ แต่ถ้าเด็กขาดในสิ่งที่กล่าวไปข้างต้น มันก็จะเกิดโทษมากกว่าที่คิด สิ่งตรงนี้มันจึงต้องเริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก สอนให้เด็กคิดเป็น ไม่ใช่การไปบังคับหรือปิดกั้น หากเด็กคิดเป็น ไม่ว่าจะเจออะไรที่มาก่อกวนใจ เด็กเหล่านั้นจะตัดสินใจในทางที่ถูกต้องเสมอ เพราะฉะนั้นวัยเด็กจึงเป็นช่วงเวลาที่เราต้องทะนุถนอมมากที่สุด เหมือนกับตอนจบของคำขวัญวันเด็กประจำปีที่ว่า “นำสู่อนาคต”