ปีชงวงการเกม?? ปิดเกม วิกฤติหรือแค่เรื่องปกติ

4,290 views
Share

 

ต้นปีมาสิ่งที่เห็นกันบ่อยเหลือเกินนั่นคือการแชร์เรื่องดวงชะตาปี 2559 แต่เน้นหนักไปที่ปีไหนคือปีชงของปีนี้ ซึ่งผู้โชคดีได้แก่ ขาล วอก มะเส็ง และกุน ผมติดหนึ่งในผู้โชคดีของทั้ง 4 ปีที่ว่าไป แต่บอกตามตรงไม่เคยแก้ชงเลยสักครั้งในชีวิต ของแบบนี้แล้วแต่ความเชื่อและศรัทธา แก้ชงกันเพื่อความสะบายใจในการดำเนินชีวิต แต่สุดท้ายหลังจากแก้ชง ก็ต้องมาใช้ชีวิตให้รอบคอบผสมผสานทั้งทางกายและทางใจ ทุกอย่างมันก็จะดีขึ้นเอง

 

กล่าวถึงปีชงผมเองก็ไม่รู้นะครับว่าปีนี้มันคือปีชงของวงการเกมหรือเปล่า เพราะตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว มาจวบจนวันนี้ เดือนมกราคมต้นปี 2559 วงการเกมบ้านเราประกาศยุติการให้บริการเกมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ไม่ใช่แค่เกมหรือ 2 เกม แต่มันมากกว่านั้นเยอะ รายชื่อตามนี้นะครับ
เกม Client
Dungeon Hero Online ปิดให้บริการ 7 มกราคม

 

LoveBeat ปิดให้บริการ 29 กุมภาพันธ์

 

BlackFire ปิดให้บริการ 15 มกราคม

 

Devil Third Online หายสาบสูญ

 

Zhuxian ปิดให้บริการ 14 มกราคม

 

เกมมือถือ
ComicWars-สงครามข้ามมิติ ปิดให้บริการ 29 มกราคม

 

หุ่นไซอิ๋ว (SD) ปิดให้บริการ 29 มกราคม

 

Galaxy Angel-หุ่นรบโมเอะ ปิดให้บริการ 29 มกราคม

 

POP Mobile ปิดบริการแล้ว

 

NorseChronicle ปิดให้บริการ 22 มกราคม

 

เป็นไงครับ เห็นแล้วอึ้งไปตามๆ กัน ไม่คิดว่ามันจะเยอะแบบนี้ ไม่แน่ว่าอาจจะมีที่ตกหล่นไปอีกพอสมควร แต่เท่าที่ได้ข่าวก็พอจะมีเท่าที่เห็น ก็ภาวนาให้มันคงไม่มากไปกว่านี้แล้วกันนะครับ

 

ทีนี้เรามาลองวิเคราะห์กันหน่อยว่าทำไมเกมเหล่านี้ถึงปิดตัวลง ขอแยกเป็นประเด็นก่อนนะครับ เพราะถ้าจะพูดด้วยหลักเหตุผล การปิดเกมบางทีมันไม่ใช่เรื่องแย่ หรือเลวร้ายอะไรมากมาย เพราะเนื่องจากอายุอานามของเกมแต่ละตัว บางทีมันก็แก่เกินแกงที่จะฝืนสังขารตัวเองให้ยืนต่อไปได้ ซึ่งตามรายชื่อที่เข้าข่ายก็จะมี Dungeon Hero Online, LoveBeat, Zhuxian และBlackFire เกมเหล่านี้อายุเยอะ เฉลี่ยๆ ก็ 5 ปี แน่นอนว่าพอครบ 5 ปีมันจะมีเรื่องของสัญญามาเป็นเงื่อนไข เพราะไม่มีใครเขาซื้อขาดกันหรอกครับ เรื่องระยะเวลาของสัญญาจึงเข้ามามีผลในจุดนี้ หลายค่าย ไม่สิต้องบอกว่าทุกค่ายจะใช้เหตุผลของการปิดเกมว่าหมดสัญญา หรือไม่ก็ผู้พัฒนาล้มเลิกกิจการไม่มีการพัฒนาต่อ อันนี้เข้าใจ เพราะมันขึ้นอยู่กับทางผู้ให้บริการเองว่าจะต่อหรือไม่ต่อ เพราะมันต้องดูองค์ประกอบหลายๆ อย่างว่าต่อไปแล้วคุ้มมั้ย หรือหยุดไปเลยจะได้ไม่เจ็บตัวมาก เพราะมันคือธุรกิจไงครับ หากขาดทุนจะฝืนต่อทำไม ตรงนี้มันคือกลไกทางการตลาดที่เราปฏิเสธไม่ได้

 

ส่วนอีกแบบคือพวกเปิดไปงั้น เปิดเรียกกระแส ก่อนตัดสินใจเอาเกมโน้นเกมนี้มาเปิดผมไม่รู้ว่าคิดอะไรกันอยู่ เอาง่ายๆ นะครับ Devil Third Online เกมนี้ต่างประเทศจัดว่าเป็นเกมที่มีปัญหาเยอะเอาเรื่อง กระแสดีไปในทางลบมากกว่าทางบวก แต่สุดท้ายก็ยังมีบ้านเราเอามาเปิด แล้วเป็นไงครับ เปิด CBT ไปพักนึง แล้วมาเปิด OBT ได้ 15 วัน จากนั้นประกาศปิดปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์ จนถึงวันนี้ไม่รู้ปรับปรุงอีท่าไหน ตัวเว็บไซต์และแฟนเพจของเกมก็เข้าไม่ได้ไปด้วย แบบนี้ผมต้องถอนคำพูดว่าเกมปิด แต่ต้องเปลี่ยนไปว่าหายสาบสูญแทนแล้วละมั้ง ไม่แปลกนะครับ เพราะเกมอื่นๆ ของผู้ให้บริการรายนี้ก็เคยหายสาบสูญมานักต่อนักแล้ว

 

สุดท้ายคือพวกเปิดทิ้งเปิดขว้าง คือไม่คิดอะไรมาก คือแค่มีเกมเปิดเยอะ เกมในสังกัดมีเยอะเข้าไว้ ผมขอเรียกว่าการเปิดเกมแบบเหวี่ยงแห เกมไหนดีมีคนเล่นก็เน้นหน่อย เกมไหนกร่อยผีหลอกเซิร์ฟเวอร์ร้างก็ถีบหัวส่งแบบไม่ไยดี ซึ่งก้อนเนื้อร้ายหรือมะเร็งของสังกัดที่กล่าวถึงตอนนี้ก็มี ComicWars, หุ่นไซอิ๋ว (SD) และ Galaxy Angel เกมมือถือล้วนๆ 3 เกมนี้คือ 3 ใน 15 เกมของทาง Winner Connect ที่ถูกหวยโดนตัดทิ้งไปซะก่อน เหตุผลก็แน่นอนคือเรื่องของสัญญา ส่วน POP Mobile และNorseChronicle อันนี้น่าจะเกี่ยวกับเรื่องความนิยมล้วนๆ เพราะ POP Mobile มีแค่ iOS ส่วนกลุ่มใหญ่อย่าง Android แห้วกันไป และที่สำคัญมันคือเกมเดียวกับ POP บนเว็บ ผู้เล่นเลยคิดว่าเล่นบนเว็บมันกว่าเยอะ ส่วน NorseChronicle เป็นเกมมาจากญี่ปุ่น ที่เน้นสังคมมากกว่าการโชว์พลัง ซึ่งขัดกับนิสัยของเกมเมอร์บ้านเรา มันเลยไม่แปลกที่เกมเมอร์เลือกที่จะไม่เล่นนั่นเอง

 

จากทั้งหมดที่ผมกล่าวมามันจึงสรุปได้ว่า สาเหตุของการไม่ต่อสัญญานั่นคือตัวเกมไม่ได้รับความนิยมในบ้านเรา เมื่อสัญญาหมดลงการเดินแยกทางของผู้ให้บริการและผู้พัฒนาจึงเกิดขึ้น ไม่รวมเฉพาะรายชื่อที่เอ่ยไปข้างต้น แต่รวมถึงเมื่ออดีตและมองไปถึงอนาคต ยังมีอีกหลายเกมที่ผู้ให้บริการจะต้องมีการแยกทางให้เห็นอยู่เรื่อยๆ นั่นเพราะกระแสของเกมในบ้านเราในตอนนี้มันลดลงจากแต่ก่อน หรืออาจจะเรียกว่าลมเริ่มเปลี่ยนทิศ หรือไม่ก็เกิดการอิ่มตัวของอะไรบางอย่าง แต่ถึงอย่างนั้น ต่อให้ยุคเวลามันเปลี่ยนไป หากผู้ให้บริการยอมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผมว่าเกมมันไปต่อได้ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดมันคือความต้องการของผู้เล่น หากเรามองขาดว่าเกมเมอร์ต้องการอะไร นั่นแหละครับยารักษามะเร็งชั้นเยี่ยม

 

 

 

 

 

 

ตัวอย่างของเกมที่อยู่ยงคงกระพัน Ragnarok, Ran Online, Yulgang, Audition, SF และอีกหลายๆ เกม พวกเขาอยู่กันอย่างไร อันนี้เป็นข้อคิดที่ดี แต่ถึงกระนั้นเราก็คงเห็นความต่างของเกมทั้ง 2 ยุค ยุคแรกและยุคหลัง เขาเรียกว่าการแข่งขันมันต่างกัน แต่ก่อนตัวเลือกน้อย คนเล่นแต่ละเกมจึงเยอะ พอเล่นแล้วก็ติด ติดแล้วก็เลิกยาก ทำให้เกมมันสามารถยืนมาได้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็นับว่าเป็นจุดได้เปรียบของเกมในยุคนั้น ที่ไม่ว่าจะเปิดกี่เกมคนก็ยังแห่เล่นกันแน่นเซิร์ฟ แต่จะสามารถดึงคนเอาไว้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของการบริหารจัดการของผู้ให้บริการเอง ส่วนปัจจุบันตัวเลือกเยอะ คนเล่นเลยเฉลี่ยกันเล่น ยิ่งมีเกมมือถือเข้ามาเป็นตัวเลือกก็ยิ่งกระจายกันเข้าไปใหญ่ ต่อเกมหากมียอดผู้เล่นอยู่ที่ 5,000 – 6,000 คนก็ถือว่าหรูแล้ว หากดีดไปเป็นหลักหมื่นต้องบอกว่าประสบผลสำเร็จแบบถล่มทลายเลยทีเดียว

 

 

 

 

เพราะงั้นการปิดเกมในสังกัดของยุคนี้ มันจึงเป็นเรื่องที่ชาชินไปซะแล้ว แต่ที่ไม่ชินก็คงเป็นเพราะอะไรมันจะพอเหมาะพอเจาะ ปิดพร้อมๆ กันแบบนี้ ยิ่งมาปิดตอนต้นปีด้วยมันเลยทำให้คิดถึงอีก 11 เดือนหลังจากนี้ว่าจะมีอีกสักกี่เกม หรือวงการเกมของเราจะไปต่อกันยังไง แต่ถ้ามองอีกมุม เกมที่ยังอยู่มันก็เป็นที่ต้องใช้คำว่า Strong คือน่าจะเป็นเกมที่มีชีวิตยืนยาวเหมือนเกมยุคเก่าที่เขาทำไว้ ไม่ว่าจะเป็น Infestation, PB, HoN พวกนี้มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้อยู่ต่อได้ นั่นคือรูปแบบของตัวเกมที่น่าสนใจ แผนการอัพเดท และการผลักดัน ซึ่งทั้งหมดมันไปส่งผลให้ตัวเกมขายได้ เพราะถ้าหากขายได้นั่นหมายถึงมีรายรับ การจะอยู่ไปนานแสนนานมันจึงเป็นอะไรที่ไม่ยาก แต่กระนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระลึกไว้เสมอในการนำเกมมาเปิดในบ้านเรา นั่นคือต้องคิดเสมอว่าเกมเมอร์บ้านเราต้องการอะไร มากว่าเพียงแค่คิดว่าเกมนี้ระบบมันดี เพราะผมเห็นมาเยอะแล้วไอ้เกมดีๆ ที่ล้มไม่เป็นท่า

 

ส่วนที่ผมเปิดหัวเรื่องของปีชง จริงๆ มันคือความเชื่อแขนงหนึ่ง ที่ผมทึกทักเอาเข้ามาเกี่ยวกับวงการเกมมันซะงั้น ของแบบนี้ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ แต่หากไปแก้ชงแล้วคิดว่ามันจะดีขึ้นแล้วใช้ชีวิตที่เหลือแบบประมาท ไอ้ที่แก้ชงไปมันคงไม่ส่งผลอะไรหรอกครับ เหมือนวงการเกม หากผู้ให้บริการมีเกมดี แต่นิ่งนอนใจไม่ใส่ใจผู้เล่น เกมนั้นก็ดับสูญเอาง่ายๆ และถึงแม้เกมจะดีและมีการผลักดันอย่างจริงจัง แต่ขาดการสนับสนุนจากเกมเมอร์อย่างเราๆ ท่านๆ ต่อให้ไม่ว่าจะทำยังไงเกมมันก็อยู่ไม่ได้ ผมถึงบอกไงครับ มันต้องควบคู่กันไปทั้งผู้ให้บริการและผู้เล่น ถ้าเป็นแบบนั้นรับรองว่า Strong แน่นอนครับ
Share

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แผลเก่ายังไม่ทันแห้ง! เตรียมเปิดเซิร์ฟเวอร์ใหม่หรือจะซ้ำรอยเดิม?
จัดหนัก มันส์สะใจกว่าเดิม โดนใจคออีสปอร์ตพันธุ์แท้ Thailand Game Expo 2020 by AIS eSports พร้อมไฮไลท์เต็มอิ่มตลอด 4 วันเต็ม
เมื่อมาราธอน กับวงการสตรีมเมอร์ต้องจับคู่กัน พร้อมเงินหลักแสน
Thailand Game Expo by AIS eSports งานเดียวครบมันส์จุใจแบบจัดเต็ม อีสปอร์ต เกมใหม่ พร้อมโชว์สุดมันส์ 4 วันเต็ม
2 วันที่คุ้มค่า EXG 2018 Game on ให้อะไรมากกว่าการมางานเกม
ผิดเป็นครู? ตามดู PUBSTOMP งานที่ผู้จัดต้องพิสูจน์ตัวเอง