ชื่อพายุนั้น ท่านได้แต่ใดมา

4,718 views

ชื่อพายุนั้น ท่านได้แต่ใดมา

พายุ “แกมี”


ในช่วงนี้ ชื่อที่คนไทยคุ้นหูรู้จักกันดีชื่อหนึ่งคือ “แกมี” พายุที่พัดโครมๆ ทำฝนตกไปทุกหย่อมหญ้า แต่ยังดีที่สลายตัวเป็นแค่หย่อมความกดอากาศต่ำก่อนที่เข้าไทย ไม่ใช่เน้นก็ไม่รู้ว่า เราจะเอา “แกมี” อยู่รึป่าว แต่ไม่ทันที่จะปล่อยให้หายใจหายคอ พายุลูกใหม่ก็ก่อตัวขึ้นแล้ว โดยมันถูกตั้งชื่อว่า “Prapiroon” (อ่านว่า “พระพิรุณ”) หลายคนคงสงสัยว่าทำไมพายุลูกนั้นลูกนี้ถึงมีชื่อนั้นชื่อนี้ แต่ละชื่อมาจากไหน ใครเป็นคนตั้ง แถมด้วยพายุมีกี่ประเภท
พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) เริ่มต้นการก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงซึ่งอยู่เหนือผิวน้ำทะเล ในบริเวณเขตร้อนและเป็นบริเวณที่กลุ่มเมฆจำนวนมากรวมตัวกันอยู่โดยไม่ปรากฏการหมุนเวียนของลม หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงนี้ เมื่ออยู่ในสภาวะที่เอื้ออำนวยก็จะพัฒนาตัวเองต่อไป จนปรากฏระบบหมุนเวียนของลมอย่างชัดเจน ในซีกโลกเหนือทิศของลมเวียนเป็นวนทวนเข็มนาฬิกาเข้าสู่ศูนย์กลางของพายุ ส่วนซีกโลกใต้ลมจะพัดเวียนเข้าหาศูนย์กลางวนตามเข็มนาฬิกา พายุหมุนในแต่ละช่วงของความรุนแรงจะมีคุณสมบัติเฉพาะตัวและเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อม ตรงบริเวณศูนย์กลางพายุมีลักษณะคล้ายกับตาเป็นวงกลม มองเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียมเรียกว่า “ตาพายุ” เส้นผ่าศูนย์กลางตาพายุเพียงแค่เป็นสิบๆ กิโลเมตรเท่านั้น (ประมาณ 15-60 กิโลเมตร) ภายในตาพายุนี้อากาศแจ่มใส มีเมฆบ้างเล็กน้อย ลมพัดอ่อน

โครงสร้างของพายุ

พายุหมุนเขตร้อนมีชื่อเรียกต่างกันตามบริเวณที่เกิดขึ้น ดังนี้
• เกิดในชายฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก เรียกว่า เฮอร์ริเคน (Hurricane)
• เกิดในอ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่า ไซโคลน (Cyclone)
• เกิดแถบนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย เรียกว่า วิลลี-วิลลี (Willy-willy)
• เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก เรียกว่า ไต้ฝุ่น (Typhoon)
• เกิดในหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เรียกว่า บาเกียว (Baguio)

 

เฮอร์ริเคน Isabel เห็นตาพายุชัดเจน

 

ตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้แบ่งพายุหมุนเขตร้อนตามความรุนแรงของพายุดังนี้
1. พายุดีเปรสชั่น (Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
2. พายุโซนร้อน (Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
3. ไต้ฝุ่น (Typhoon) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอตขึ้นไป (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

พายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกและมีความแรงของลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุมากกว่า 33 นอต จะเริ่มมีการกำหนดชื่อเรียก โดยมีสองหน่วยงานที่กำหนดชื่อพายุหมุนซึ่งอาจเป็นผลให้พายุลูกหนึ่งมีสองชื่อ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ( Japan Meteorological Agency หรือ JMA) จะตั้งชื่อพายุถ้าพายุลูกนั้นมีความเร็วลมที่รอบศูนย์กลางพายุที่สูงสุด 10 นาที อย่างน้อย 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดในแอ่ง ขณะที่สำนักงานบริหารบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์แห่งฟิลิปปินส์ (Philippine Atmospheric, Geophysical and Astronomical Services Administration หรือ PAGASA) จะกำหนดชื่อพายุหมุนซึ่งเคลื่อนเข้าสู่หรือก่อตัวขึ้นเป็นดีเปรสชันเขตร้อนในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานฯ แม้พายุนั้นจะมีชื่อที่ JMA ตั้งแล้วก็ตาม

ซึ่งแต่เดิมจะเป็นชื่อภาษาอังกฤษ แต่เมื่อปี พ.ศ. 2543 ประเทศและดินแดนต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 14 แห่งที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee) อันได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ได้ลุกขึ้นมาจัดระบบการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนในแถบนี้ใหม่ (ไม่เอาเฉพาะแต่ชื่อฝรั่ง) โดยแต่ละประเทศ (หรือดินแดน) ได้ส่งชื่อพายุในภาษาของตนมาให้ประเทศละ 10 ชื่อ รวมทั้งสิ้นได้ 140 ชื่อ

รายชื่อพายุทั้ง 140 ชื่อนี้ ถูกนำมาแบ่งเป็น 5 ชุดหลัก ชุดละ 28 ชื่อ โดยไล่เรียงชื่อไปตามลำดับประเทศ (และดินแดน) ที่เสนอมาตามอักษรโรมัน ข้อตกลงคือ

1. เมื่อมีพายุที่มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางของพายุมากกว่า 34 นอต หรือ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กลายเป็นพายุโซนร้อน) พายุนั้นจะถูกตั้งชื่อ
2. ชื่อของพายุจะเริ่มใช้ชื่อบนสุดของคอลัมน์หรือชุดที่ 1 ก่อน เช่น เมื่อมีพายุเกิดขึ้นมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตามที่กำหนดในข้อ 1 เป็นลูกแรก พายุลูกนั้นจะมีชื่อว่า “ดอมเรย”
3. เมื่อมีพายุลูกต่อไปเกิดขึ้นอีก และมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตามที่กำหนดในข้อ 1 พายุลูกนั้นจะใช้ชื่อที่อยู่ถัดลงมาในชุดที่ 1 เช่น พายุลูกที่ 2 จะมีชื่อว่า “ไห่คุ้ย”
4. เมื่อใช้จนหมดชุดแรกให้ใช้ชื่อแรกของคอลัมน์ที่อยู่ถัดไป เช่น พายุที่เกิดหลังพายุ “จ่ามี” จะใช้ชื่อ “กองเรย” ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ
5. เมื่อใช้จนหมดชุดที่ 5 ให้กลับมาใช้ชื่อแรกของชุดที่ 1 เช่น พายุที่เกิดหลังพายุ “ซาวลา” จะใช้ชื่อ “ดอมเรย”
6. หากพายุลูกใดมีความรุนแรงและสร้างความหายนะมากเป็นพิเศษก็ให้ปลดชื่อพายุลูกนั้นไป แล้วตั้งชื่อใหม่เข้าไปในรายการชื่อแทน

 รายชื่อพายุ 


พระพิรุณกำลังมา