กรมการปกครองชี้ Smart Card ยืนยันตัวตันผู้เล่นเกมออนไลน์

2,249 views

วันนี้ (21 มกราคม 2554)  ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์  ได้จัดการประชุมสัมมนา แนวทางการใช้บัตรประจำตัวประชาชนในการตรวจสอบตัวตนของผู้เล่นเกมออนไลน์ เป็นโครงการการศึกษาความเป็นไปได้และพัฒนาระบบต้นแบบการประยุกต์ใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ในการให้บริการประชาชน จัดขึ้นโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ดร. ชุมพล  บุญมี และ คุณอิทธิกร ช่างสากล

มีผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาเป็นจำนวนมาก อาทิ หน่วยงานราชการ, บริษัทฯ เอกชน, ผู้ประกอบการร้าน Internet, นักเรียนนักศึกษา รวมทั้งสื่อมวลชนหลายแขนง โดยเนื้อหาการสัมมนาส่วนใหญ่เน้นไปในเรื่องของการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ในการตรวจสอบตัวตนของผู้เล่นเกมออนไลน์  โครงการพัฒนาระบบนำร่องประยุกต์ใช้บัตรประจำตัวประชาชนแบบ Smart Card เพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนการตรวจสอบยืนยันตัวตนและบันทึกระยะเวลาของผู้เล่นเกมออนไลน์ และจะเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐกำกับควบคุมผลกระทบที่เกิดจากการเล่นเกมออนไลน์ของเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้เข้าร่วมสัมมนา

นอกจากนี้ยังมีการร่วมพูดคุยเสวนา จากนักวิชาการและภาคเอกชน โดยหัวข้อของการเสวนา “การประยุกต์ใช้บัตรประชาชน กับการบริการร้านเกมออนไลน์ในอนาคต” ในการเสวนาครั้งนี้ ทุกท่านต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า การยืนยันตัวตนของผู้เล่นเกมออนไลน์ในร้านอินเตอร์เน็ตมีความสำคัญมาก เพื่อเป็นการจัดระเบียบให้ถูกต้อง มีสิทธิประโยชน์ให้กับผู้เข้ามาใช้บริการ เป็นร้านเกมที่มีความถูกต้องโปร่งใส กำกับดูแลผู้เล่นให้ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง

เรียงจากซ้าย คุณพงศ์สุข พิรัญพฤกษ์ (บริษัทโชร์ไร้ขีดจำกัด), คุณสิทธิชัย  เทพไพทูรย์ (สมาคมอุตสาหกรรมเกมไทย), ดร. ชุมพล  บุญมี ( สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) , อ. อิทธิพล  ปรีติประสงค์ ( สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล) , คุณพงศ์ธร  ชนะจิต (เลขาธิการกลุ่มเครือข่ายร้านอินเตอร์เน็ตไทย) , คุณประสพ  เรียงเงิน (ผู้อำนวยการสำนักงานพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์), คุณลัดดา  ตั้งสุภาชัย (ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม)


ภายในงานได้นำเครื่องตรวจสอบมาสาธิตวิธีการใช้งาน เพียงแค่สอดบัตรลงในเครื่องอ่านบัตร ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะตรวจสอบตัวตนผู้ใช้และดึงข้อมูลพื้นฐานในบัตร เช่น เลขประจำตัวบัตรประชาชน ชื่อ นามสกุล ที่อยู่และรูปถ่าย เป็นต้น ส่งผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ไปให้ “ระบบตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลประชาชน” ซึ่งถ้ามีความถูกต้องระบบก็จะรับรองความถูกต้องของเอกสารนั้นโดยอัตโนมัติโดยการสร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งนอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนแล้ว ยังมิได้เป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ส่งมาจากผู้รับบริการโดยตรง “ระบบตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลประชาชนเพียงตรวจสอบกับข้อมูลที่มีอยู่ในฐานข้อมูลและลงนามรับรองว่าถูกต้องตรงกันเท่านั้น”